ร่างวิธีประมูลทีวีดิจิตอล คาดเปิดประมูล ส.ค.-ก.ย. 56

วันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ที่ประชุมกสท. ได้อนุมัติ (ร่าง)ประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 และเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะใช้เวลาประมาณ 30 วัน แล้วจึงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน สิงหาคม-กันยายน 2556 หรือเลื่อนไม่เกิน 1-2 เดือน [เพิ่มเติม: ล่าสุดได้มี 33 บริษัทซื้อซองประมูล และการประมูลเลื่อนเป็นเดือนธันวาคม 2556]
ราคาตั้งต้นการประมูล
หมวดหมู่เด็ก 140 ล้านบาท, หมวดหมู่ข่าว 220 ล้านบาท, หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 380 ล้านบาท, หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 1510 ล้านบาท
เสนอเพิ่มราคาแต่ละครั้ง
หมวดหมู่เด็กเพิ่มครั้งละ 1 ล้านบาท, หมวดหมู่ข่าวเพิ่มครั้งละ 2 ล้านบาท, หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) ครั้งละ 5 ล้านบาท, หมวดหมู่ทั่วไปแบบคมชัดสูง (HD) ครั้งละ 10 ล้านบาท
เงื่่อนไขการเข้าร่วมประมูล
- 4 หมวดหมู่ไม่ได้ประมูลพร้อมกันในช่วงเวลาหรือวันเดียวกัน
- สามารถยื่นประมูลได้หมวดหมู่ละ 1 ช่อง สูงสุด 3 หมวดหมู่ โดยห้ามยื่นหมวดหมู่ทั่วไปความคมชัดสูง (HD) และหมวดหมู่ข่าวโดยผู้ประมูลเดิม
- ราคาค่าเอกสารและการพิจารณาคำขอประมูล (ค่าซื้อซอง) 1 ล้านบาทต่อช่อง
- หลังยื่นขอใบอนุญาตแล้ว วางเงินประกันซอง 10% ของราคาตั้งต้นในแต่ละหมวดหมู่ช่องรายการ โดยจะคืนให้ภายใน 30 วัน หากผู้เข้าร่วมไม่ชนะการประมูล
- เสนอเพิ่มราคาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งภายในเวลาการประมูล 60 นาที ถ้ามีจำนวนผู้เสนอราคาเท่ากันมากกว่าจำนวนช่องที่มี จะขยายเวลาออกไปอีก 5 นาที หากขยายเวลาแล้วไม่มีการเสนอเพิ่มราคาให้จับสลากหาผู้ชนะการประมูล
- ได้ใบอนุญาตหลังประมูลจบ 60 วัน มีอายุ 15 ปี
ผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิ์ 3 ข้อ
- เป็นเจ้าของช่องตามมาตรฐาน กสทช. กำหนด
- จะได้เป็นผู้เลือกช่องก่อน
- จะได้รับสิทธิ์เลือกโครงข่าย โดยการใช้ลำดับตัดสินการเลือกโครงข่าย
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดหมายเลขช่องทีวีดิจิตอลดังนี้ หมายเลข 1- 12 ช่องบริการสาธารณะ, 13-15 ช่องรายการเด็ก, 16-22 ช่องรายการข่าว, 23-29 ช่องทั่วไปความคมชัดปกติ (SD), 30-36 ช่องทั่วไปความคมชัดสูง (HD), และช่องหมายเลข 37-48 ช่องบริการชุมชน
การชำระเงินค่าประมูลจะแบ่งการชำระเป็น 2 ส่วน
- เงินส่วนราคาขั้นต่ำ จะแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด งวดแรกชำระ 50% ภายใน 30 วันหลังจากได้รับแจ้งว่าเป็นผู้ชนะการประมูล งวดที่ 2 จำนวน 30% หลังจากประมูลได้แล้ว 1 ปี งวดที่ 3 ชำระ 10% เมื่อครบปีที่ 2 ปี และงวดที่ 4 ชำระ 10% เมื่อครบปีที่ 3 โดยจะนำไปแจกเป็นคูปองส่วนลดในการซื้อทีวีดิจิตอลหรือกล่องแปลงสัญญาณ (Set top box) ให้กับ 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
- เงินส่วนเกินกว่าราคาขั้นต่ำ จะแบ่งออกเป็น 6 งวด โดยชำระงวดละ 10%ต่อปี ใน 2 ปีแรก และงวดละ 20%ต่อปี ในอีก 4 ปีที่เหลือ โดยจะนำเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO)
พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2556
"การประชุม กสท./กสทช. เมื่อ 14 พ.ค.56 มีมติที่สำคัญ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่สำหรับดิจิตอลทีวี ที่ประชุม กสท. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าวก่อนนำเสนอต่อ กสทช. เพื่อไปสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นการทั่วไป ประกาศ กสทช. ฉบับดังกล่าวกำหนดถึงรายละเอียด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการทีวีดิจิตอล การประมูลเป็นวิธีการที่ถูกกำหนดตามกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรทัศน์ประเภทบริการธุรกิจ หลักเกณฑ์ข้อกำหนดในร่างประกาศ กสทช. ฉบับนี้มีการพิจารณามาตามลำดับ ได้เปิดเผยต่อสาธารณะทีละส่วน ตั้งแต่หมวดหมู่ช่องรายการ จำนวนช่องรายการที่มีจำนวนทั้งสิ้น 24 ช่องรายการ เป็นแบบความคมชัดสูง HD จำนวน 7 ช่องรายการ และความคมชัดปกติ SD 17 ช่อง การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ตามหลักการสากล โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ โดยได้กำหนดเป็นราคาขั้นต่ำ และราคาเริ่มต้นการประมูล กระบวนการประมูลทั่วไปที่มีการกำหนดแล้วในประกาศ กสทช. เรื่อง การประมูลคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์"
"การพิจารณาในวันนี้ยังได้เพิ่มเติมเงื่อนไขของผู้รับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค 2 ประการสำคัญ เสนอโดยอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประการแรก กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการกำหนด และประการที่สอง กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของคนพิการ คนสูงอายุ หรือคนด้อยโอกาส เพื่อให้เข้าถึง รับรู้ และใช้ประโยชน์จากโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้อย่างเสมอภาคเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป สำหรับรายการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ การเพิ่มเติมเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทั้ง 2 ประการ เสนอโดยอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านการผลักดันของ กสทช.สุภิญญา ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภค และคุ้มครองสิทธิของผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีความเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป"
"ที่ประชุมยังได้เพิ่มเงื่อนไขที่ให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีระบบการตรวจสอบเนื้อหารายการ ผังรายการ ตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวได้รับการผลักดันมาโดยตลอดจาก กสทช.พลโท ดร.พีระพงษ์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลด้านเนื้อหารายการ และผังรายการ ผมคิดว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้โทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ต่อจากนี้ก็จะเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างจากผู้ที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ นักวิชาชีพ และประชาชนในทุกภาคส่วน ครับ"
ทั้งนี้ร่างประกาศกสทช.ดังกล่าว ผ่านความเห็นจากคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (อนุ DSO) เท่านั้น โดยยังจะต้องผ่านความเห็นจากอีก 2 อนุกรรมการ คือ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ และ คณะอนุกรรมคุ้มครองผู้บริโภคฯ ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ ซึ่งมี ผศ. ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ เป็นประธานได้ให้ข้อเสนอและตั้งข้อสังเกตในการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศดังกล่าวโดยมีประเด็นหลักๆ ที่เห็นควรแก้ไขดังนี้
- เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานในการวางหลักประกันการประมูล และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อยที่เชื่อถือได้มีโอกาสเข้าร่วมการประมูลโดยไม่ติดขัดในการต้องเร่งหาเงินสดหรือออกเช็คมาวางเป็นหลักประกัน คณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ เสนอให้เพิ่มเติมการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 (Bank Guarantee) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการวางหลักประกัน ซึ่งก็ใช้กันได้ในกรณีของการประมูล 3G ที่ผ่านมา
- เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือเลือกปฏิบัติในภายหลัง หลายประเทศเลือกใช้วิธีการกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX operator) แยกออกจากผู้ให้บริการช่อง (Channel provider) (ห้าม MUX เป็นเจ้าของช่อง) เว้นแต่ในกรณีกิจการสาธารณะ (Public Service Broadcasting) ในกรณีประเทศไทยเนื่องจากผู้ให้บริการโทรทัศน์รายเดิมเป็นเจ้าของโครงข่ายและเป็นผู้ให้บริการช่องรายการ และมีแนวโน้มที่จะขอให้บริการในทั้งสองลักษณะต่อไปใน โทรทัศน์ระบบดิจิตอล จึงมีข้อกำหนดในลักษณะดังกล่าวได้ยาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการที่ผู้ให้บริการโครงข่ายและผู้ให้บริการโทรทัศน์ (ช่องรายการ) เป็นรายเดียวกันสามารถส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) เมื่อเปรียบเทียบกับรายอื่น ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจนำไปสู่การผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ในภายหลัง คณะอนุกรรมการฯ จึงขอพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ โดยขอเป็นผู้ยกร่างหลักเกณฑ์การเลือกใช้โครงข่ายโทรทัศน์ของผู้ให้บริการช่องรายการ เพื่อเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยจะเร่งเสนอต่อ กสทช. โดยเร็วก่อนมีการประมูล
- การประมูลของที่มีลักษณะทดแทนกันได้ โดยกำหนดให้มีการเรียงลำดับการประมูลแยกตามหมวดหมู่ประเภทช่องรายการนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดลำดับการประมูล โดยคณะอนุกรรมการฯเห็นว่า ลำดับที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการประมูลนั้น ควรเรียงโดยอาศัยข้อมูลความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล หรือเรียงลำดับตามมูลค่า หรือราคาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประมูล ในที่นี้เมื่อไม่มีข้อมูลการประมาณการที่ชัดเจน จึงเสนอให้นำราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่มาเป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับ เนื่องจากราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่กำหนดขึ้นจากการประเมินมูลค่าและความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรเห็นควรให้เรียงลำดับการประมูลจากราคาที่สูงสุดไปหาต่ำสุดคือเริ่มจาก Variety HD, Variety SD, ข่าวสารสาระ แล้วจบลงที่หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว
- โดยทั่วไปการประมูลที่เน้นประสิทธิภาพในการแข่งขันจะไม่กำหนดระยะเวลาตายตัวว่าควรจบลงภายในระยะเวลาเท่าใด แต่จะกำหนดให้หยุดลงเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นคณะอนุกรรมการฯเสนอให้ เพิ่มเติมเงื่อนไขการสิ้นสุดการประมูลเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มภายในห้านาทีนับแต่การเสนอเพิ่มราคาครั้งก่อนหน้า โดยการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ได้ราคาประมูลที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดให้มีการตัดสินใจอย่างเพียงพอในการประมูลรอบสุดท้าย และป้องกันการใช้ยุทธวิธีจู่โจมการประมูลโดยแย่งชิงความได้เปรียบในช่วงเวลาสุดท้ายของการประมูล
- เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถมีการประมาณการรายรับรายจ่ายและบริหารเงินสดได้ง่ายขึ้น และมีเงินทุนเพียงพอในการให้บริการตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด คณะอนุกรรมการฯเสนอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนระยะเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ โดยให้ดำเนินการได้ภายหลังจากผ่านพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่ที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นการยืดระยะเวลาการชำระเงินให้สอดคล้องกับรายรับของทีวีดิจิตอลที่ต้องใช้เวลานาน
- เข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
ความเห็น
จากความเห็นของคณะอนุกรรมการส่
จากความเห็นของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ ที่เสนอให้ปรับแก้ไขร่างประมูลทีวีดิจิตอล ทางบอร์ดกระจายเสียง/กสทช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 56 ดังนี้
และกระบวนการร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประมูลในกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ยกร่างโดยสำนักงาน กสทช. โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านการประมูลทางอิเล็กทรอนิคส์จากกรมบัญชีกลางให้ความเห็นและคำปรึกษา รวมทั้งใช้แนวทางการยกร่างโดยอิงหลักการ Best Practice ของการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ มาปรับให้เหมาะสมกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ส่วนการนำเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการ DSO ก็เพื่อรับฟังความเห็นเบื้องต้นในลักษณะ Focus Group ให้เกิดความรอบคอบก่อนนำเสนอต่อ กสท. มีมติรับรองก่อนนำไปสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป หลังจากการรับฟังความคิดเห็น สำนักงานเป็นคนนำ (ร่าง) มาพิจารณาปรับปรุง เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำเสนอต่อ กสท. และ กสทช. พิจารณาตามลำดับ โดยไม่มีการนำเสนอร่างแก้ไขต่อคณะอนุกรรมการฯ ดังนั้นอนุกรรมการฯ จะมีโอกาสเห็นร่างกติกาที่ผ่านการรับรองจาก กสทช. พร้อมกับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
ทั้งนี้ การวางหลักประกันการประมูลด้วยเงินสด หรือเช็คที่ธนาคารสั่งจ่าย นั้น วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการทำผิดกฎกติกาการประมูล หรือ การสมยอมในการประมูล อันอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายในประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กสท. สามารถยึดหลักประกันดังกล่าวเพื่อนำมาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่ กสท.จำเป็นต้องยกเลิกการประมูลและต้องมีการเริ่มต้นกระบวนการประมูลใหม่ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ทันที ในขณะที่กรณีการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบยืนยันการค้ำประกันกับผู้ค้ำประกัน และเมื่อผู้เข้าร่วมการประมูลกระทำผิด สำนักงานฯ อาจจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกระบวนการเพื่อให้บังคับคดีให้มีการชำระเงินหลักประกันดังกล่าว นอกจากนั้น จากการตรวจสอบ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็มิได้มีการกำหนดวิธีการวางหลักประกันไว้ โดยให้แต่ละหน่วยงานกำหนดตามความเหมาะสมใน TOR และประกาศเชิญชวนของการประมูลแต่ละคราว และในกรณีการประมูล 3G ที่ผ่านมา ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ข้อ 9.4 ระบุให้วางหลักประกันการประมูลเป็นเช็คที่ธนาคารสั่งจ่ายสำนักงาน
นอกจากนี้ เงื่อนไขใบอนุญาตโครงข่ายที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตโครงข่ายฯ พ.ศ. 2555 ก็ได้กำหนดไว้ว่า ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายต้องให้บริการโครงข่ายฯ แก่ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือกีดกันผู้รับใบอนุญาตรายอื่น กรณีที่โครงข่ายไม่สามารถรองรับได้ผู้รับใบอนุญาตต้องชี้แจงเหตุแห่งการปฏิเสธให้ กสท. พิจารณา นอกจากนั้น ผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า และจะต้องไม่กระทำการที่คณะกรรมการเห็นว่า มีวัตถุประสงค์ หรือมีผลกระทบ หรืออาจมีผลกระทบต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาดอย่างมีนัยสำคัญสำหรับโครงข่าย สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการกิจการกระจานเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาต และทั้งนี้ การเลือกใช้บริการโครงข่ายฯ ของผู้ชนะการประมูลเป็นไปตามกลไกการตลาด กติกาการประมูลเพียงกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลต้องการใช้บริการจากผู้ให้บริการรายเดียวกัน แต่ผู้ให้บริการมีขีดความสามารถให้บริการไม่เพียงพอเท่านั้น