บอร์ดกสท. ล็อกสเปคช่องบริการสาธารณะความมั่นคง

ที่ประชุมคณะกรรมการกสท. เมื่อ 17 เมษายน 2556 ได้มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 3:1:1 เห็นชอบคุณสมบัติผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ช่องบริการสาธารณะ ประเภทที่สอง เน้นความมั่นคงของรัฐ โดยเห็นตามคณะอนุกรรมการประสานงานการบริหารคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
- ผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์บริการสาธารณะ ประเภทที่ 2 เพื่อความมั่นคงของรัฐ ต้องมีสถานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นใดที่มิใช่รัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 11(1)
-
ผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามมาตรา 11(1) ต้องมีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ในการใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการบริการสาธารณะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ดังนี้
-
พิทักษ์รักษา ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
-
พิทักษ์ รักษาเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน
-
รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
-
ทั้งนี้ พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 11 ได้ระบุไว้ว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะต้องเป็น
- กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่มิใช่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือมีความจําเป็นต้องดําเนินกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
- สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากําไรในทางธุรกิจ ซึ่งมีความเหมาะสมกับการประกอบกิจการบริการสาธารณะตามลักษณะและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
- สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการเรียนการสอนหรือการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมตามลักษณะและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ประชุมกสท. 5 เสียง มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในประเด็นทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ คือเห็นชอบ 3 เสียง (พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์, พล.ท. ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ, พ.ต.อ. ทวีศักดิ์ งามสง่า) ไม่เห็นชอบ 1 เสียง (น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์) และงดออกเสียง 1 เสียง (ผศ. ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์)
โดย น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ ซึ่งไม่เห็นชอบกับมติ ได้แสดงความเห็นว่า
- ดิฉันอยู่1เสียงข้างน้อย ไม่เห็นชอบหลักการที่อนุความมั่นคงฯและสนง.เสนอมาว่าให้เฉพาะ หน่วยงานกลาโหมและตำรวจเท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้คลื่นนี้
- อีกทั้งไม่เห็นด้วยที่แยกกติกาย่อยๆออกมาเป็นชิ้นๆ สำนักงานควรทำเป็นร่างประกาศฯภาพรวมของการจัดสรรคลื่นฯบริการสาธารณะ (Beauty contest)
- เหตุผลหลักที่โหวตไม่เห็นชอบมติวันนี้คือการล็อกสเปคคุณสมบัติผู้ได้คลื่นบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคงให้เฉพาะหน่วยงานกลาโหมและตำรวจเท่านั้น
- ไม่เห็นชอบที่มติบอร์ดวันนี้ตีความ *ความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยสาธารณะ* ในความหมายแคบให้สิทธิ์เฉพาะองค์กรถือาวุธใช้คลื่นทำธุรกิจได้
- มติ 3:2 คราวก่อนให้สิทธิ์ช่อง 5-11-TPBS 2 ช่องได้ใช้คลื่นทีวีดิจิทัลไปแล้ว มติ 3:1:1 วันนี้ ไปแล้วอีก2ช่อง ให้กลาโหมกับตำรวจทำทีวีสาธารณะ
- ทีวีดิจิทัลสาธารณะใหม่ 12 ช่องที่ กสท. กำลังจะจัดสรร มติเสียงข้างมากตอนนี้ถือว่าให้สิทธิ์ไปแล้ว 6 ช่อง เหลืออีก 6 ช่อง ยังไม่มีกติกา
- สำหรับตัวเอง ไม่เห็นด้วยกับมติที่ให้สิทธิ์ได้คลื่นทีวีดิจิทัลสาธารณะไปแบบง่ายๆ เพราะขัดเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ แต่ไปแล้ว6ช่องเหลืออีก6ช่อง
- 2 ช่องใหม่ (ไม่รวมช่อง 5 เดิม) ที่จะเป็นช่องบริการสาธารณะกับช่องปลอดภัยสาธารณะ ถ้า กสท./กสทช. ออกแบบดีๆจะช่วยประเทศชาติได้มากกว่านี้
- อาทิ จะให้หน่วยงานรัฐทำก็ได้ แต่ไม่ใช่ล็อกสเปคให้หน่วยงานกลาโหม และ ตำรวจได้ไปทำคนเดียว ควรออกแบบให้ทุกหน่วยได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
- ช่องเพื่อความมั่นคงของรัฐ และ ช่วงความปลอดภัยสาธารณะ ไม่ให้จะให้ทหารตำรวจมาทำธุรกิจอย่างดียว แต่ควรมีพันธกิจเพื่อสาธารณะ ให้คนอื่นร่วมด้วย
และ ผศ. ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ซึ่งงดออกเสียง ได้เขียนว่า
- มติกสท.เมื่อวานเป็นเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของทีวีสาธารณะประเภท2 (ที่โฆษณาได้มากกว่าประเภทอื่น)ให้เข้าทางกองทัพกับตำรวจแต่ไม่ได้พูดถึงจำนวน
- ผมอยากเห็นเกณฑ์รวมและกรอบของทีวีสาธารณะทั้งหมด(ไม่ใช่แค่ประเภท2)ก่อนตัดสินใจจึงยังไม่ให้ความเห็น แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
- ก็เข้าใจว่าทุกฝ่ายก็อยากรักษาผลประโยชน์ของตนเองแต่ทุกคนต้องรู้ว่าประเทศเป็นของทุกคนตลอดจนลูกหลาน ประโยชน์สาธารณะจะกลับมาหาเราวันใดวันหนึ่ง
- ก็เห็นใจว่าหลายฝ่ายต้องการเวลาในการปรับตัว ส่วนตัวก็ไม่ได้เป็นคนสุดโต่งมีหย่อนบ้าง แต่สุดท้ายแล้วทุกคนต้องปรับตัว ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า
- ไทยมีปัญหาความอ่อนแอของสถาบันหลักของประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายและความยุติธรรม ก็เหลือแต่จิตสำนึกและมุ่งมั่นของทุกคนที่จะช่วยกัน
- มีโฆษณาแชมพูยี่ห้อหนึ่ง if you don't look good, we don't look good ถ้าคนไทยทั่วไปยังดูด้อย(พัฒนา) ชนชั้นผู้นำจะดูดีไม่ได้ มาทำทีวีให้ดีกัน
- ภาระในการสร้างทีวีสาธารณะให้ดีเป็นของทุกคล ทั้งนักการเมือง ทหาร ตำรวจ สื่อ นักวิชาการและประชาชนทั่วไป อย่าให้ใครต้องแบกการต่อสู้ไว้คนเดียว
ทั้งนี้กสท. ได้กำหนดช่องรายการทีวีดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ไว้จำนวน 12 ช่อง โดยช่องที่ 8 และ 9 ที่เป็นประเภทที่สอง เพื่อความมั่นคงของรัฐและเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ นั้นมีสิทธิพิเศษกว่าช่องบริการสาธารณะอื่นๆ คือ สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการ โดยไม่แสวงหากำไร
- เข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
ความเห็น
หวังว่ากสทช
หวังว่ากสทช.จะตรวจสอบด้วยว่า ผู้ที่ได้ใบอนุญาตทำตามมติของอนุกรรมการฯหรือเปล่า คือ มีวัตถุประสงค์ในการใช้คลื่น ดังนี้
ไม่ใช่มีแต่ละคร เหอๆๆๆ
กรรมการกสทช. ที่เห็นด้วย 3
กรรมการกสทช. ที่เห็นด้วยทั้ง 3 เสียง คือ พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์, พล.ท. ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ, และ พ.ต.อ. ทวีศักดิ์ งามสง่า ล้วนมีตำแหน่งทหารและตำรวจทั้งสิ้น ซึ่งตรงกับความเห็นของกรรมการที่ไม่เห็นด้วย น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ ว่ามีการล็อกสเปคให้เฉพาะหน่วยงานกลาโหมและตำรวจเท่านั้น