ปัญหาทีวีดิจิตอลช่องสาธารณะขยายตัว องค์กรสื่อค้านกสทช.

เรื่องราวเริ่มจะบานปลายเมื่อองค์กรวิชาชีพสื่อและกสทช.เสียงข้างน้อย (น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ และ ผศ. ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์) ไม่เห็นด้วยกับการให้ช่อง 5, ช่อง 11, และไทยพีบีเอส ออกอากาศทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ ตามผังรายการเดิมและไม่มีหลักเกณฑ์ควบคุม ซึ่งช่องบริการสาธารณะนั้นต้องมีเนื้อหาที่เป็นข่าวและสาระไม่น้อยกว่า 70% และยังมีข้อห้ามเรื่องการโฆษณา หากกสทช.ไม่ทบทวนจะรวมตัวยื่นศาลปกครองและถอดถอน
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ และสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา "ประเคนทีวีดิจิตอลสาธารณะ..กสทช.รัฐประหารการปฏิรูปสื่อ" เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2556 โดยเห็นว่า การให้สิทธิพิเศษกับช่อง 5,ช่อง 11 และไทยพีบีเอสนั้นไม่เป็นธรรมกับช่องอื่น ไม่มีเงื่อนไขยุติการออกอากาศในระบบแอนะล๊อกและการคืนคลื่นความถี่ที่ใช้อยู่ ไม่เป็นการปฏิรูปสื่อเพื่อบริการสาธารณะอย่างแท้จริง ควรรับความความเห็นสาธารณะ และมีหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ใบอนุญาตตามคุณสมบัติที่ชัดเจน แล้วจึงค่อยพิจารณาให้ใบอนุญาต โดยได้ออกเป็นข้อเรียกร้องดังนี้
- กสทช. ทบทวนมติในการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะทั้ง 12 ช่อง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของการปฏิรูปสื่อและเพื่อให้เป็นไปตามหลักการของทีวีสาธารณะอย่างแท้จริง
- กสทช.ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการให้ใบอนุญาตตามคุณสมบัติ (Beauty Contest) ให้ชัดเจน โดยจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างรอบด้าน
- กสทช.ไม่ควรเร่งรีบการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะพร้อมกันทั้ง 12 ช่องในครั้งเดียวกัน โดยขอให้พิจารณาจากความจำเป็น และคุณภาพของเนื้อหารายการที่จะนำเสนอเนื้อหาเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ
- ในการออกใบอนุญาตทีวีจิดิทัลสาธารณะ กสทช. ต้องไม่ทำให้โครงสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์บิดเบี้ยว เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ทั้งนี้เนื่องจากการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะไม่มีค่าใช้จ่ายในการประมูล, ค่าธรรมเนียมรายปี และสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้โดยไม่จำกัด
โดย ผศ. ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกสทช. ได้ขอแก้ไขข้อ 4. "มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยคือทีวีสาธารณะจ่ายค่าธรรมเนียมครึ่งหนึ่ง(ไม่ต้องจ่ายค่ากองทุน2%) ของทีวีธุรกิจ และมีข้อจำกัดด้านโฆษณาแต่ขึ้นกับตีความ"
ซึ่งทาง พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ กรรมการกสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้ชี้แจงทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2556 ดังนี้
- มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นกรณีกรอบการอนุญาตโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประเภทกิจการบริการสาธารณะของ กสท./กสทช.
- กสท. เริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลโดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตามลำดับ
- มีลำดับเวลา เป้าหมายที่ชัดเจน โดยได้ประกาศกรอบระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล (Digital Roadmap) เมื่อเดือน ก.พ.55
- ได้ประกาศบังคับใช้แผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล เมื่อ 21ธ.ค.55 เป็นการกำหนดนโยบายที่สำคัญ
- วัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนผ่านก็เพื่อพัฒนากิจการโทรทัศน์ให้รองรับความต้องการพื้นฐานในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
- ให้ประชาชนสามารถรับบริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้อย่างทั่วถึง พัฒนาเทคโนโลยี ลดต้นทุน และมีการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ
- นโยบายที่สำคัญด้านเทคโนโลยี คือ การกำหนดให้รับรองระบบ DVB-T2 เป็นมาตรฐานเทคโนโลยีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลของประเทศไทย
- ซึ่งเป็นมาตรฐานเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับมติของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบ เมื่อ 20 พ.ค.55
- นโยบายด้านการวางแผนความถี่นั้น กำหนดให้ใช้ย่านความถี่สูงยิ่ง (UHF) สอดคล้องกับแผนแม่บท และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ
- สามารถให้บริการในทุกระดับ และมีจำนวนความถี่เพียงพอสำหรับช่วงเวลาการส่งสัญญาณระบบดิจิตอลและอนาล็อกคู่ขนานกัน (Simulcast)
- นโยบายในการอนุญาตกิจการบริการสาธารณะนั้น ตามแผนได้กำหนดให้คำนึงถึงหน้าที่ตามกฎหมาย หรือความจำเป็นเพื่อการบริการสาธารณะ
- นโยบายด้านการยุติระบบอนาล็อก กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการเดิมมีสิทธิใช้คลื่นความถี่ตามที่กฎหมายได้รับรองสิทธิไว้ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน
- โดยระยะเวลาการยุติการรับส่งสัญญาณระบบอนาล็อกจะต้องไม่สร้างภาระมากเกินควรในการส่งสัญญาณคู่ขนานทั้งสองระบบ (Simulcast)
- แผนการเปลี่ยนผ่านฯ ได้กำหนดหลักการสำคัญ ในห้วงการส่งสัญญาณคู่ขนานทั้งสองระบบ (Simulcast) ก่อนการยุติการออกอากาศอนาล็อก
- เช่นเดียวกับในหลายประเทศ การกำหนดบทบาทของฟรีทีวีรายเดิมให้ชัดเจนในห้วง Simulcast ก่อนการยุติระบบอนาล็อกเป็นสิ่งที่สำคัญ
- กสท. จะต้องวางแผนให้มีจำนวนความถี่เพียงพอ สำหรับ Simulcast ในขณะที่มีการอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับช่องรายการโทรทัศน์รายใหม่ๆ
- การกำหนดให้ฟรีทีวีรายเดิมออกอากาศคู่ขนานในห้วง Simulcast เป็นข้อกำหนดที่เป็นภาระเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบกิจการฟรีทีวีรายเดิม
- ในขณะที่ผู้บริโภคจะมั่นใจว่าการเปลี่ยนมารับบริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลจะยังคงได้รับบริการเนื้อหาในระบบอนาล็อกเดิมอยู่อย่างครบถ้วน
- กระบวนการออกอากาศคู่ขนาน (Simulcast) ที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านราบรื่น เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ
- กสท. ได้ศึกษาแนวทางในหลายประเทศ และคู่มือที่กำหนดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) นำมาปรับใช้กับประเทศไทย ครับ
และเพิ่มเติมวันที่ 2 เม.ย. 2556
- กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 53 ได้กำหนดให้ กสทช. ประกาศแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ภายในระยะเวลาหนึ่งปี
- โดยในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ จะต้องให้มีการกำหนดเวลาในการเปลี่ยนไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลด้วย
- กสทช. ประกาศแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ เมื่อ เม.ย.55 กำหนดให้มีแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นดิจิตอล
- แผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นดิจิตอล ประกาศบังคับใช้เมื่อ 21ธ.ค.55 เป็นการกำหนดแนวนโยบายที่สำคัญ
- นโยบายด้านการวางแผนความถี่นั้น กำหนดให้ใช้ย่านความถี่สูงยิ่ง (UHF) สอดคล้องกับแผนแม่บท และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ
- สามารถให้บริการในทุกระดับ และมีจำนวนความถี่เพียงพอสำหรับช่วงเวลาการส่งสัญญาณระบบดิจิตอลและอนาล็อกคู่ขนานกัน (Simulcast)
- นโยบายด้านการยุติระบบอนาล็อก กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการเดิมมีสิทธิใช้คลื่นความถี่ตามที่กฎหมายได้รับรองสิทธิไว้ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน
- การออกใบอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะ มีกรอบการอนุญาตกำหนดโดยกฎหมายในระดับหนึ่ง
- โดยกฎหมายได้กำหนดกรอบคุณสมบัติของผู้ที่สามารถขอประกอบกิจการ แนวทางในการพิจารณาอนุญาต และวัตถุประสงค์การประกอบกิจการ
- กสทช. ได้บังคับใช้ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เมื่อ 16 ต.ค.55 ที่ผ่านมา
- หลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการได้ทราบเกี่ยวกับคุณสมบัติ วิธีการ หลักเกณฑ์ วิธีการพิจารณา ระยะเวลา และ
- ขอบเขตการอนุญาต รวมถึงเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการประกอบกิจการ ซึ่งรวมถึงกรณีของโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะด้วย
- กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลเมื่อ ก.พ.56
- ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้ผู้ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการได้ทราบล่วงหน้าถึงกติกา
- แผนการเปลี่ยนระบบฯ รวมถึง หลักเกณฑ์ และ กติกา ทั้งสองฉบับ เป็นกติกาที่สำคัญในการพิจารณาการประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล
- กระบวนการในการพิจารณาอนุญาต กสท. จำเป็นต้องมีกติกา ที่ชัดเจน เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคัดเลือกของกรรมการเอง
- กติกาเหล่านี้จะมีการกำหนด ตามระยะเวลา มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเสนอแนะให้ข้อคิดเห็น
- ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีกระบวนการที่มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
- กระบวนการ กติกา ความโปร่งใส เป็นธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการออกใบอนุญาตการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ครับ
ทั้งนี้การจัดสรรช่องบริการสาธารณะให้กับช่อง 5,ช่อง 11 และไทยพีบีเอสนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านจากทีวีระบบเดิม (แอนะล๊อก) ไปสู่ระบบดิจิตอล ตามมติของกสท.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2556 โดยจะมีการออกอากาศคู่ขนานทั้งระบบแอนะล๊อกและระบบดิจิทัล (Simulcast) จึงไม่ใช่การออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่องบริการสาธารณะ แต่เป็นเพียงการให้"ทดสอบออกอากาศ"ในระบบคู่ขนาน และจะไม่ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลจนกว่าจะมีการยุติออกอากาศในระบบแอนะล๊อก ซึ่งทางช่อง 3, 7, 9 ก็จะได้สิทธิ์การออกอากาศคู่ขนานด้วยเช่นกัน โดยจะให้ใช้ช่องบริการชุมชนไปก่อน จนกว่าจะชนะประมูลและได้รับใบอนุญาตช่องธุรกิจ ทั้งนี้การออกอากาศคู่ขนานจะมีระยะเวลาจำกัด ไม่นานเป็น 10 ปี โดยจะมีความชัดเจนในเดือน พ.ค. 2556
- เข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
ความเห็น
สรุปสั้นๆว่า
สรุปสั้นๆว่า การทดสอบออกอากาศคู่ขนาน (Simulcast) ดันไปใช้สิทธิ์ของช่องบริการสาธารณะและช่องบริการชุมชน โดยไม่มีหลักเกณฑ์และกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน แต่มีผลคล้ายการให้ใบอนุญาต เลยทำให้เกิดความสับสน เหอๆ